อาโมส 1:9-13
เมืองต่าง ๆ รอบอิสราเอลยังมีคดีอีกหลายเมือง
ลองมองแผนที่ข้างล่างซิว่า เจอที่ไหนบ้าง
เรื่องราวย่อต่อเนื่องจากพันธสัญญาเดิม จนถึงพันธสัญญาใหม่
อาโมส 1:1-8
ทางเหนือคือซีเรีย ดามัสกัสเป็นเมืองสำคัญของพวกเขา พวกเขาไปทรมานคนเผ่ากิเลอาด คำว่าเลื่อนฟันเหล็กนั้น ทำให้เราคิดถึงการที่เมือง ๆ หนึ่งถูกบุก และไถราบเป็นหน้ากลอง ถูกทรมาน ทำรัายอย่างโหดเหี้ยม พวกเขาจะถูกอัสซีเรียจับไป
ส่วนทางใต้นั้น ฟิลิสเตียไม่ได้แค่เอาคนเป็นทาส เพราะจริง ๆ เมืองกาซา ไม่น่าจะต้องการทาส แต่พวกเขากลับเอาคนไปขาย เพื่อพวกเขาจะได้มั่งคั่งขึ้น นั่น เป็นสิ่งที่พระเจ้าจะทรงจัดการกับพวกเขา
ดูแผนที่ข้างล่าง แล้วหาชื่อเมืองที่อยู่ในเรื่องราวซิ
ท่านอาโมส เป็นผู้กล่าวคำของพระเจ้าต่อคนอิสราเอลทางเหนือเป็นส่วนใหญ่
ในเมือง สะมาเรีย เบเธล กิลกาล ในช่วงประมาณ 790-753 ปีก่อนคริสตศักราช ท่านเป็นคนในยุคเดียวกับท่านโยนาห์ เฮเชยา และอิสยาห์ ราชาเยโรโบอัม 2 แห่งอิสราเอล และ ราชาอุสซียาห์ แห่งยูดาห์
เพื่อน ๆ จำได้ไหม อาณาจักรเหนือนั้น ล้วนแต่มีกษัตริย์ที่ชั่วร้ายทั้งสิ้น มีราชินีผู้โด่งดังชื่อพระนางเยเซเบล มเหสีของราชาอาหับ ตั้งแต่กษัตริย์องค์แรก… พวกเขาก็หันไปกราบไหว้เทวรูปต่าง ๆ อย่างไม่ลดละ
ช่วงที่อาโมสกล่าวคำของพระเจ้านั้น เป็นช่วงเวลารุ่งเรืองของอาณาจักรเหนือ แต่สำหรับท่านอาโมสแล้ว ท่านรู้สึกเป็นภาระหนักมากที่ประชาชน และข้าราชการ รวมไปถึงพระราชา ไม่ได้ฟังเสียงของท่านเลย
ชื่ออาโมส แปลว่า ภาระ หรือผู้แบกภาระ …. ดูเหมือนว่า คำของท่านน่าจะสะท้อนความรู้สึกของท่านเป็นอย่างดี
ภาพข้างบนนี้ เป็นหนังสือม้วนอาโมสบทที่ 2
ท่านอาโมสกล่าวคำตักเตือน ตำหนิประชาชนอิสราเอลอย่างรุนแรงที่พวกเขาละทิ้งพระวจนะของพระเจ้า ความอยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างดาษดื่น คนยากจนไม่มีใครดูแล ทุกคนใฝ่ฝันจะหาแต่ความสุขสำราญแบบต่าง ๆ เท่าที่จะคิดได้ การกราบไหว้เทวรูปที่ประกอบไปด้วยพิธีอันอุจาด สกปรกเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง
สิ่งที่เป็นเรื่องหนักใจท่านอาโมสมากก็คือ อิสราเอลนี่แหละที่ทำผิดมากยิ่งกว่าผู้ที่ไม่เชื่อในพระองค์เสียอีก พวกเขามีสิทธิพิเศษเป็นคนของพระเจ้า แต่กลับย่ำยี ดูหมิ่นสิทธินั้น
เราจะได้อ่านว่า ท่านอาโมสพูดถึงประชาชาติต่าง ๆ ที่พระเจ้าจะทรงลงโทษ และแน่นอน อิสราเอลก็ไม่ได้หนีพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้าไปได้เลย
เราอ่านโยเอลมาจนจบสามบท มีอะไรที่ทำให้เราฉุกคิดขิ้นมาบ้างไหม.?
หรือว่าไม่เข้าใจ?…
เรื่องสรุปสั้น ๆ ก็คือ โยเอลมาเตือนให้คนอิสราเอลเดินในทางของพระเจ้า… อย่าหันไปหาสิ่งอื่น ๆ …. มิฉะนั้น เหตุร้ายจะเกิดกับเขา
ถึงกระนั้น พระเจ้าทรงปรารถนาที่จะรื้อฟื้นพวกเขาให้กลับสู่พระพร ไม่ใช่ความทุกข์ยากลำบาก
อย่างหนึ่งที่บู้บี้เห็นชัดคือ พระเจ้าในสมัยพระคัมภีร์เดิมนั้น ทรงเป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรม และใครที่ทำผิด… ก็จะต้องรับโทษความผิดนั้น โดยสิ่งที่เห็นชัดมากคือ เมื่อผู้นำ ได้นำให้ประชาชนละเมิดพระเจ้า ดูหมิ่นพระองค์ สิ่งนั้นไม่อาจมองข้ามได้ อย่างไรเสีย…ต้องถูกลงโทษ
สิ่งสำคัญคือต้องกลับใจใหม่ เพื่อพระเจ้าจะเป็นหนึ่งในชีวิตของเขา
โยเอลบอกหลายสิ่งหลายอย่างกับคนอิสราเอล แต่โยเอลบอกอะไรเราตรง ๆ บ้าง ……
พระเจ้าทรงเมตตาให้เราเห็นในโยเอล แม้ว่าอิสราเอลเป็นชนชาติที่พระเจ้าทรงเลือก ในโยเอลได้บอกชัดเจนว่า คนที่ร้องออกพระนามของพระเจ้าก็จะรอด พระเจ้าทรงบอกล่วงหน้ามาเป็นพัน ๆ ปีแล้วว่า พระองค์ทรงให้ชาวโลกที่ยอมรับพระนามของพระองค์ ได้มีโอกาสมาเป็นคนของพระองค์ด้วย
สิ่งต่าง ๆ ที่โยเอลได้บอกมาล่วงหน้า ก็เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะเป็นวิบัติหรือพระพร และประชากรที่ฟังเสียงของพระเจ้านั้น ก็ต้องช่วยกันที่จะทำให้ตัวเองได้รับพระพร….
โยเอล 3:16-21
พระสุรเสียงของพระเจ้าดังสนั่นในสงคราม ท่ามกลางความสับสนโกลาหลของท้องฟ้าและแผ่นดิน พระเจ้ายังคงเป็นป้อมอันเข้มแข็ง เป็นผู้ปกป้องอิสราเอล
พระเจ้าทรงสัญญาจะอยู่ท่ามกลางประชาชนของพระองค์ เมืองเยรูซาเล็มจะกลายเป็นเมืองบริสุทธิ์
ในวันของพระเจ้านั้น แผ่นดินจะเต็มด้วยความสมบูรณ์ พระเจ้าจะทรงรื้อฟื้นคนของพระองค์ และคนที่ต่อต้านคนของพระองค์นั้น จะถูกลงโทษ
พออ่านข้อความตอนนี้ เราก็เห็นว่า เมื่อสงครามจะเกิดขึ้น ทั้งสังคมก็ต้องหันไปทำสงคราม เครื่องมือทำนาไร่ก็จะต้องกลายเป็นอาวุธ เหล่าชายหนุ่มก็มักถูกเรียกไปเป็นนักรบ
ชาติทั้งหลายถูกเรียกให้ชุมนุมกันเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสงคราม
ขณะเดียวกันโยเอลก็ร้องขอพระเจ้าว่า “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงส่งนักรบของพระองค์มา”
ชนอิสราเอลจะต้องพึ่งพระเจ้าในสงครามที่จะเกิดขึ้น
หากเขาสู้เองนั้น คงไม่เหลืออะไร
เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ตัดสินว่า ใครจะัแพ้หรือชนะ
โยเอล 3:1-8
จากข้อความข้างบน โยเอลกำลังบอกว่า เหตุใดพระเจ้าจึงต้องพิพากษาลงโทษชาติทั้งหลายที่เข้ามากดขี่ ทำร้ายอิสราเอล พวกเขาทั้งจับฉลาก เอาคนไปขายเป็นทาส เอาไปเป็นโสเภณี
หุบเขาแห่งเยโฮชาฟัทหมายความถึงในวันสุดท้าย ….พระเจ้าจะทรงพิพากษา
และพระเจ้าปฏิบัติต่อชนชาติที่เป็นศัตรู เหมือนกับอยู่ในศาล พระองค์ทรงแจ้งข้อหาของเขา ตั้งคำถาม และบอกบทลงโทษ
ฟิลิสเตียอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ เป็นศัตรูกับอิสราเอลมาโดยตลอด
ไทระและไซดอน เป็นเมืองริมฝั่งทะเลเมดิเตอรเรเนียน ส่วนเสบาอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรอาระเบีย
สิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยต่อมาคือ ปี 343 กคศ. กษัตริย์ อาร์ทาเซอร์เซส เข้ามาทำลายไซดอน
ปี 332 ก่อนคศ. อเล็กซานเดอร์มหาราช เข้ามาโจมตีไทระ
โยเอล 2: 28-32
โยเอล 2:23-27
ความทุกข์ยากของการกันดาร และสงครามคือ ไม่มีฝน และมีศัตรูพร้อม ๆ กัน
แต่มาตอนนี้ พระเจ้าทรงสัญญาจะให้ฝนต้นฤดู และฝนปลายฤดู
ปีเดือนที่ตั๊กแตนได้ลงมากินพืชพันธุ์ ที่มีศัตรูเข้ามากวาดทุกอย่างไป
กว่าจะได้คืนกลับมานั้น มันใช้เวลานานมาก แต่พระเจ้าจะทรงรื้อฟื้นเขาอย่างรวดเร็ว
ที่เป็นเช่นนี้เพื่อเขาจะรู้ว่า ทุกสิ่งเป็นมาจากพระเจ้า
และพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงทำตามพระสัญญาของพระองค์เสมอ
ความอับอายจะหมดไป และพระเจ้าจะทรงอยู่กับเขา
โยเอล 2:15-19
ท่านโยเอลผู้นี้ ไม่ได้แค่มาบอกคนยูดาห์ว่า จะมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นกับพวกเขา แต่ท่านได้บอกหนทางแก้ไขด้วย ทุกคนควรมารวมตัวกันเพื่อที่จะกลับใจพร้อม ๆ กัน แม้เจ้าบ่าวเจ้าสาวที่กำลังจะแต่งงาน ก็ต้องออกมาจัดการกับบาปของตน เรื่องนี้ สำคัญยิ่งยวด
และคนที่จะเป็นผู้นำในการกลับใจก็คือเหล่าคนที่เป็นผู้สอน หัวหน้า …. พวกเขาต้องกลับใจเองด้วย ไม่ใช่ให้คนอื่นกลับใจแต่ตัวเองยังเหมือนเดิม เขาควรอธิษฐานว่า ขอพระเจ้าทรงเมตตาไม่ให้ใครมาเยาะเย้ยคนของพระองค์ ขอทรงเวทนาพวกเขา อย่าให้ใครมาตั้งคำถามว่า พระเจ้าของพวกเขาอยู่ที่ไหน
โยเอลบอกว่า ถ้าเขากลับใจ.. พระเจ้าจะทรงหันมาหาเขา มาสงสารเขา และช่วยเหลือ
แต่….ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่า คนที่ฟังท่านนั้น จะเอาใจใส่ และทำตามที่ท่านแนะนำหรือเปล่า
โยเอล 2:12-14
การกลับมาหาพระเจ้าไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เพราะกลับใจจริงนั้น เมื่อมาหาพระเจ้าก็เท่ากับหันหลังให้กับบาป เสียใจกับทางเดิมของตัวเอง
ต้องมาหาพระองค์แบบเทใจ ยอมให้พระองค์หมด ต้องเปลี่ยนชีวิตและเสียใจจริง ๆ
คนยิวสมัยก่อนพอเสียใจ ก็จะฉีกเสื้อผ้า เพื่อบอกว่า “ฉันมีความทุกข์มากจนเสื่้อผ้ายังไม่มีความหมายเลย ถึงฉันจะดูไม่ดี ฉันก็ไม่สนใจเพราะว่า ฉันมีความทุกข์ใจจริง ๆ” ต่อมา การกระทำเช่นนั้น กลายเป็นแค่ประเพณี….คล้าย ๆ กับจ้างคนมาร้องไห้ในงานศพ แต่โยเอลบอกให้ฉีกใจ…. เพื่อน ๆ ว่า มันหมายความถึงอะไร ลองคิดดูซิ
การกลับมาหาพระเจ้านั้น ปลอดภัย.. เพราะพระเจ้าทรงเต็มด้วยพระคุณยิ่งใหญ่ ทรงโกรธช้า … ทรงอดกลั้นมาก ทรงทนนานแสนนาน ทรงใช้เวลาให้เรามีโอกาสเปลี่ยนใจ …. เพื่อว่า พระพรจะได้เป็นของเรา..
โยเอล 2:4-11
ท่านโยเอลพูดให้ผู้ฟังได้รับทราบว่า กองทัพของข้าศึกนั้น น่ากลัวเพียงไร มีอำนาจศักดาเพียงไหน มันเป็นกองทัพที่มีระเบียบวินัยสูง การมุ่งไปข้างหน้าของกองทัพนี้…ชัดเจน ทหารทุกคนมุ่งมั่น มุ่งที่จะทำลายยูดาห์ตามคำสั่งที่ได้มา
โยเอลต้องการให้คนที่ฟังเขาได้ทราบว่า อำนาจสูงสุดนั้นก็ยังไม่ได้อยู่ที่กองทัพอันยิ่งใหญ่ แต่อยู่ที่พระเจ้า และเหตุการณ์อันน่ากลัว สยองขวัญ เขย่าโลกแบบนี้ จะเกิดขึ้นได้ในวันของพระเจ้าเท่านั้น
โยเอล 2: 1-3
โยเอลกล่าวถึงกองทัพที่จะมาว่า ใหญ่โตเหมือนเมฆที่ครองแผ่นดินในยามเช้า และแม้จะรู้สึกว่า เคยอยู่สบายเหมือนอยู่ในสวนเอเดน
แต่กองทัพเหล่านี้จะมาทำหลายความสุขเหล่านั้นจนสิ้น
สำหรับคนที่มีชีวิตติดตามพระเจ้า เขาอยากจะเห็นวันของพระเจ้า เขาไม่กลัวเพราะเขาอยู่ในพระองค์ แต่คนที่ไม่ได้เดินอย่างถูกต้องกับพระเจ้า วันนั้น เป็นวันที่น่ากลัวที่สุด สำหรับยูดาห์ พวกเขาทำสิ่งที่ผิดต่อพระเจ้ามากมาย วันของพระองค์จึงเป็นวันที่น่ากลัว สยดสยอง
โยเอล 1:13-20
โยเอลได้ทำให้คนที่ฟังคำกล่าวนั้น เข้าใจว่า หากพวกเขากลับใจจากทางบาปจริง ๆ
พระเจ้าจะไม่ทรงถือโทษ
วันแห่งพระเจ้า…. หมายถึงวันที่พระเจ้าจะทรงพิพากษาลงโทษความผิดที่ไม่ได้สำนึก
ทั้งความอดหยาก และเมล็ดพืชที่เหี่ยวแห้ง มันก็น่ากลัวอยู่แล้ว
ไม่ใช่มนุษย์ทำผิดแล้วสัตว์จะสบายเมื่อไร…
สัตว์ทั้งหลายในทุ่งก็ต้องอดอยากตามไปเพราะความผิดของพวกเขา
โยเอล 1:1-5
พระคำของพระเจ้าที่ท่านโยเอลกล่าวนั้น น่ากลัวจริง ๆ เพราะพูดแต่สิ่งที่เลวร้ายซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น
นี่แสดงว่า ในสังคมยุคนั้น มีคนที่เมาหยำเป ไม่สนใจอะไรอยู่ไม่น้อย
เรื่องของตั๊กแตนนี้ มีหลายคนเล่าว่า มันคือการที่แผ่นดินถูกปล้น บุกรุก โจมตี ซ้ำแล้ว ซ้ำอีกจนพวกเขาไม่เหลืออะไร เพื่อน ๆ คิดว่าอย่างไรครับ ….
อย่างที่เราเคยเห็นมาในหลายเหตุการณ์ …นั่นคือ พระเจ้าทรงส่งคนของพระองค์เข้ามาในยูดาห์หรืออิสราเอลเพื่อตักเตือนให้คนได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นผลดีต่อตนเอง
แม้จะมีคนที่เชื่อฟังทำตามผู้กล่าวคำของพระเจ้าเหล่านั้น แต่ก็ยังมีไม่น้อยที่ไม่ได้สนใจแม้แต่จะฟัง ไม่สนใจและยังเยาะเย้ยอย่างไม่แยแส
บู้บี้เองมีความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง มีคำพูดอะไรบ้างที่เขาพยายามมาเตือนสติประชาชน เราก็จะเริ่มจากท่านโยเอลก่อน เพราะเชื่อกันว่า ท่านมากล่าวคำของพระเจ้าในสมัยของราชาโยอาชซึ่งเป็น พระราชาที่ครองราชย์ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ โดยมีปุโรหิตเยโฮยาดาช่วยดูแล สั่งสอน และปกป้องพระราชาไว้
เพื่อน ๆ ลองกลับไปดูเหตุการณ์สมัยนั้นได้ พระมารดาของราชาโยอาชเป็นราชินีที่โหดร้ายมาหลายปี จนกระทั่งวันหนึ่ง ท่านปุโรหิตพร้อมกับเหล่าทหารได้ร่วมใจกันแต่งตั้งพระราชา ทำให้ราชินีทรงโกรธมาก แต่ในที่สุดพระนางก็ถูกสังหารในวันนั้นเอง …..
ชื่อโยเอล มีความหมายที่ดีเหลือเกิน แปลว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นพระเจ้า หรือ พระเจ้าแห่งอิสราเอลทรงเป็นพระเจ้า! สมัยก่อนนี้ คนนิยมชื่อนี้มากด้วย ผู้ที่ค้นคว้าเรื่องของท่านโยเอลเชื่อว่า ท่านกล่าวคำของพระเจ้าในช่วงปี 835-805 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งตอนนั้นเอง ยังมีอาณาจักรทั้งสองคือ เหนือ และใต้
แต่ยังมีบางท่านเชื่อว่า ท่านโยเอล กล่าวคำของพระเจ้าแก่แผ่นดินยูดาห์ในสมัยราชาอุสซียาห์ คือประมาณปี 792-740 ที่เป็นอย่างนี้ เพราะหนังสือเล่มนี้ไม่ได้บอกว่า อยู่ในสมัยใด จึงต้องวิเคราะห์เอา ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ท่านกล่าวพยากรณ์ถึงเหตุการณ์ทีได้เกิดขึ้นจริงในเวลาต่อมา
2 พงศาวดาร 36:15-23
แม้ว่าพระเจ้าจะทรงส่งคนของพระองค์มาเตือนพระราชา และเจ้านายแห่งแผ่นดินยูดาห์ครั้งแล้วครั้งเล่า ท่านอาโมส ท่านเยเรมีห์ และอีกหลาย ๆ ท่าน แต่… ไม่มีใครฟัง
พระเจ้าทรงสงสารประชาชนที่กำลังจะต้องกลายเป็นทาสในเมืองไกล พระองค์ปรารถนาจะให้พวกเขากลับใจเสียก่อนที่สิ่งร้าย ๆ จะเกิดขึ้น แต่ผู้คนกลับเยาะเย้ยคนของพระเจ้า
“พวกท่านมาพูดอะไรให้เรา อย่างไรเราก็อยู่สบายแล้ว ถึงจะเป็นเมืองขึ้น ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก อย่ามาทำให้เราต้องกลับจงกลับใจเสียให้ยาก”
“พวกท่านเอาบอกว่า กล่าวคำของพระเจ้า ท่านนะ โง่จริง” พวกเขาดูหมิ่นคนของพระเจ้า เท่ากับดูหมิ่นพระองค์ผู้ทรงส่งคนเหล่านั้นมา
พระเจ้าทรงโกรธพวกเขา ที่โง่เขลาแต่ยังอวดฉลาด พระองค์ทรงโกรธจนไม่อาจยับยั้งความโกรธนั้นได้
น่ากลัวจริง ๆ
เรากลัวไหม? แต่พวกเขาไม่กลัวกันเลย คิดว่าจะอยู่กันอย่างสบายใจอย่างนี้ตลอดไป
ในที่สุด พระเจ้าทรงใช้เนบูคัดเนสซาร์มาจัดการกับเขาอีกเป็นครั้งที่สอง!
เนบูคัดเนสซาร์สังหารผู้ชายจำนวนมากมายที่อยู่ในสถานนมัสการ พวกเขาถูกแทง ฟันอย่างโหดเหี้ยม และคนที่เหลือคือเด็ก ผู้หญิงและคนชรา รวมไปถึงข้าราชการทั้งหลาย คนเก่ง ๆ ต้องถูกกวาดไปเป็นเชลยในนครบาบิโลน
ราชาแห่งบาบิโลนได้ปล้นเอาเครื่องใช้ทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่อีกไปหมด ไม่ว่าจะจากในพระวิหารหรือราชวัง
ในที่สุด ก็จุดไฟเผานครเยรูซาเล็ม ทำลายทุกสิ่งที่มีค่าซึ่งเอาไปไม่ได้ คนทั้งหลายต้องไปอยู่ในบาบิโลนนานถึง 70 ปี ตามที่พระเจ้าตรัสผ่านท่านเยเรมีห์ ….
แต่…สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ
เกิดอะไรขึ้นบ้างในยุคสมัยก่อนที่พวกเขาจะถูกทำลายจริง ๆ
เราได้ยินถึงข่าวพระราชาองค์นั้นดี องค์นี้ชั่ว
ต่อไปเราจะมาดูว่า พระเจ้าทรงห่วงใยคนที่ดื้อดึงเหล่านี้มากเพียงไร พระองค์ทรงทำอย่างไรบ้างกับพวกเขา และเหตุการณ์ทั้งหมด มันเป็นเรื่องราวที่จะเป็นตัวอย่างให้เรารู้ว่า เราจะเดินไปกับพระเจ้าผู้ทรงรักเรา ให้เป็นที่พอน้ำพระทัยที่สุดได้อย่างไร
2 พงศาวดาร 36:6-14
ในช่วงเวลาที่ราชาเยโฮยาคิมครองอยู่นั้นเอง เนบูคัดเนสซาร์ ราชาแห่งบาบิโลนก็ยกกองทัพมาโจมตีนครเยรูซาเล็ม ทรงขนเอาทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ในพระวิหารของพระเจ้าไปเก็บไว้ในวิหารนครบาบิโลน
นี่ไง ทรัพย์สินที่ราชาเฮเซคียาห์เคยอวดราชทูตจากบาบิโลน บัดนี้ มันกลายเป็นของคนชาวบาบิโลนไปเสียแล้ว ! เนบูคัดเนสซาร์ทรงสั่งนำเอาราชาเยโฮยาคิม ซึ่งอยู่ในปีที่ 11 ของการครองราชย์ไปเป็นเชลยในนครบาบิโลน
จะมีโอกาสที่นครเยรูซาเล็มจะฟื้นตัวหรือเปล่า? กลายเป็นว่าตอนนี้ เยโฮยาคีนซึ่งเป็นโอรสอายุ 18 ปีขึ้นครองแทน
อายุ 18 ปี… ต้องขึ้นครองในขณะที่ต้องกลายเป็นเมืองขึ้น กำลังถูกทั้งอียิปต์ทางตะวันตก และบาบิโลนทางตะวันออกบุกรุกอย่างเอาเป็นเอาตาย จะสามารถพาประเทศไปสู่อิสระได้ไหม?
ยังไม่ทันไร ราชาเยโฮยาคีนก็เริ่มต้นด้วยการทำสิ่งที่ชั่วร้ายในสายพระเนตรพระเจ้า…. สิ้นปีนั้นเอง ราชาเนบูคัดเนสซาร์จึงทรงจับราชาเยโฮยาคีนไปเป็นเชลยอีก ได้ครองเพียง 3 เดือนเท่านั้น และตั้งลุงที่ยังหนุ่มแน่นของเยโฮยาคีนคือ เศเดคียาห์ให้เป็นกษัตริย์แทน ตอนนั้นเศเดคียาห์ทรงมีอายุ 21 ปีเท่านั้นเอง!
เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พระเจ้าทรงใช้เยเรมีห์มาชักชวนให้ประชาชนหันกลับไปหาพระเจ้า ชวนพระราชาให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง
แต่ราชาเศเดคียาห์กลับกลายเป็นคนชั่วร้ายเช่นกัน ! เป็นราชาที่เย่อหยิ่งทั้ง ๆ ที่ปกครองในฐานะเจ้าเมืองขึ้นเท่านั้น ไม่ยอมฟังสิ่งที่เยเรมีห์เตือนแม้แต่น้อย ทำแข็งขืนต่อทั้งพระเจ้าและราชาเนบูคัดเนสซาร์
ไม่เพียงพระราชาหลงทาง บรรดาปุโรหิต เลวี และผู้ใหญ่จำนวนมากมายก็หลงผิดตามไปด้วย พระวิหารไม่เหลืออะไร และพวกเขาก็ทำให้พระวิหารยิ่งสกปรกไปอีกด้วยการนำสิ่งน่าเกลียดน่าชังเข้ามาในพระวิหารของพระเจ้าอีก
พระเจ้าจะทรงทำอย่างไรกับพวกเขา?