พบศัตรูเก่า ๑๔

1 พงศาวดาร 14

“เจ้าดาวิดเนี่ยนะ?”

“ใช่แล้ว  คนที่เคยมาอยู่กับเรา และภักดีกับเรา เดี๋ยวนี้ เป็นกษัตริย์ของอิสราเอล และมีเมืองหลวงที่เยรูซาเล็มขอรับ”   กษัตริย์ของฟีลิสเตียทนไม่ได้ที่เห็นเช่นนี้

“เราต้องยกทัพไปตีเมืองนี้  เอาให้อยู่หมัด  แบบนี้ทิ้งไว้ไม่ได้  เดี๋ยวมันต้องมาตีเราแน่นอน ตัดไฟเสียต้นลม”

 

กองทัพฟิลิสเตียจึงขึ้นมาทางเหนือ ตั้งค่ายที่หุบเขาเรฟาอิม  และปล้นผู้อยู่อาศัยในแถบนั้น

เมื่อราชาดาวิดได้ข่าว    จึงทูลถามพระเจ้าทันที  “พระเจ้าข้า  ข้าทาสของพระองค์ควรไปสู้กับคนฟีลิสเตียหรือไม่   พระองค์จะทรงมอบพวกเขาไว้ในมือของข้าทาสของพระองค์ไหมพระเจ้าข้า?”

ราชาดาวิดทรงทราบดีว่า สิ่งสำคัญคือ  พระเจ้าทรงไปกับพระองค์หรือไม่…

“ไปเถอะ ดาวิด  เราจะมอบเขาไว้ในมือของเจ้าแน่”  พระเจ้าตรัสตอบ

ดังนั้น ราชาดาวิดจึงจัดกองทัพ ยกไปที่บาอัลเป-ราซิม

ศึกครั้งนั้น  ราชาดาวิดชนะขาดลอย  ชนะแบบที่พระองค์เองก็ทรงคาดไม่ถึง  ตรัสว่า

“พระเจ้าได้ทรงทะลุทะลวงข้าศึกของข้า เหมือนดังก้อนน้ำใหญ่ที่โถมเข้าใส่พวกเขา   ขอบคุณพระเจ้ายิ่งนัก   มหัศจรรย์จริง ๆ”

คนฟีลิสเตียหนีหัวซุกหัวซุน ทิ้งข้าวของและเทวรูปต่าง ๆ ไว้มากมาย

“พวกเจ้าจงเอาเทวรูปเหล่านี้ไปเผาเสียให้หมด  อย่าให้เหลือซาก  พวกเจ้าอย่าไปเสียดายมันด้วย!”

แต่… คนฟีลิสเตียยังไม่เข็ด    ไม่นานก็กลับมาปล้นในหุบเขาเรฟาอิมแห่งเดิม

“พระเจ้าข้า  ข้าทาสของพระองค์ควรไปจัดการกับคนฟีลิสเตียนี้ไหม?”

“เจ้าอย่าตามเขาไป”  พระเจ้าตรัสตอบ  “จงอ้อมไปโจมตีพวกเขาที่ตรงข้ามกับดงยางสน  ฟังให้ดี… ถึงที่นั่น  เมื่อเจ้าได้ยินเสียงกองทัพเคลื่อนไหว  เจ้าก็จงบุกได้ทันที เพราะตอนนั้น เราจะไปก่อนหน้าเจ้า เพื่อโจมตีกองทัพของศัตรู”

ราชาดาวิดทรงทำทุกอย่างตามที่พระเจ้าทรงบัญชา

จากเมืองกิเบโอน   ข้ามไปทางตะวันตก ผ่านหุบเขาเรฟาอิม ไปถึงเมืองเกเซอร์ ดาวิดปราบคนฟีลิสเตียเสียราบคาบ

ชัยชนะครั้งนี้ ทำให้พระนามของราชาดาวิดเป็นที่เลื่องลือในหมู่ประชาชาติต่าง ๆ  ทั้งใกล้และไกล

การเดินทางของหีบพันธสัญญา ๑๓

1 พงศาวดาร 13

ละเลย  หลงลืม  ไม่สนใจ…..มานานแล้ว

บัดนี้ ราชาดาวิดทรงคิดถึงหีบพันธสัญญาของพระเจ้า ซึ่งเป็นหีบที่บรรจุศิลาจารึกพระบัญญัติสิบประการของพระเจ้าไว้    ตั้งแต่สมัยราชาซาอูล  ไม่มีใครสนใจหีบพันธสัญญานี้    แล้วมันอยู่ที่ไหนกัน  น่าจะเอากลับมาไว้ในเมืองหลวง

พระราชาทรงเรียกประชุมคนอิสราเอล…

“หากว่าท่านทั้งหลายเห็นด้วย  และเป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เราก็จะส่งข่าวให้คนอิสราเอลทั้งใกล้ และไกล  รวมถึงปุโรหิต และคนเลวี เพื่อจะได้เชิญหีบของพระเจ้าคืนมา”

“ดีเลยพะยะค่ะ  พวกเราขอสนับสนุนความคิดนี้”

“ดี… ถึงเวลาที่เราจะทำสิ่งที่ถูกต้อง   เราได้ละเลยหีบพันธสัญญาของพระเจ้ามานานเหลือเกิน”  ราชาดาวิดตอบ

ปรากฏว่า หีบพันธสัญญานั้น อยู่ที่เมืองคีริยาท-เยอาริม   ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของกรุงเยรูซาเล็ม  “ขอให้ท่านไปเชิญคนอิสราเอลจากแม่น้ำไนล์ในอียิปต์ ไปจนถึงเลโบฮามัท ทางเหนือสุดมาก ๆ   มารวมตัวกันเพื่ออัญเชิญหีบของพระเจ้ามาจากคีรียาท-เยอาริม”

การอัญเชิญครั้งนี้  เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้น คนทั้งหลายจึงมารวมตัวกันเพื่อฉลอง แสดงความยินดี…

เขาได้อัญเชิญหีบของพระเจ้ามาจากบ้านของอาบีนาดับ  ขึ้นเกวียนเล่มใหม่ที่ไม่มีใครเคยใช้มาก่อน เวลานั้น เขาน่าจะใช้คานหามขึ้นเกวียน  จึงไม่มีใครแตะต้องหีบนั้นเลย    คนนำขบวนคือ อุสซาห์ และอาหิโยห์  ส่วนคนอื่น ๆ ต่างก็ร้องเพลง บรรเลงพิณเขาคู่ พิณใหญ่ รำมะนา และฉาบ   ทุกคนพากันเต้นรำ ร้องเพลงอย่างชื่นชมยินดี

ลา ลา ลัน ลา  ฮา เล ลูยา  สรรเสริญ  พระเจ้า  ฮาเลลูยา

แต่… เมื่อมาถึงลานนวดข้าวแห่งหนึ่ง  เจ้าวัวสะดุด

เสียหลัก  “โอ้ย  ระวัง!!” คนหนึ่งร้อง

ทำให้อุสซาห์หันไปเอามือรับหีบที่กำลังเอียง จะตกลงมาจากเกวียน

ขณะนั้นเอง พระพิโรธของพระเจ้าก็เกิดขึ้น ทรงประหารเขาทันที เพราะเขาได้จับหีบพันธสัญญาซึ่งต้องห้าม ไม่มีใครแตะต้องได้ ….

อุสซาห์ล้มลง สิ้นใจตายตรงนั้นเอง

“โอ… โอ… ดูซิว่า เกิดอะไรขึ้น…. ท่านอุสซาห์… โธ่!”

ราชาดาวิดเองก็ทรงตกใจมากที่เกิดเหตุเช่นนี้   และพระองค์ทรงไม่พอพระทัยที่พระเจ้าทรงประหารอุสซาห์

แต่ในพระทัยลึก ๆ ของราชาดาวิด  ทรงรู้ว่า ต้องมีอะไรไม่ถูกต้องแน่นอน… มันคืออะไรหรือ?

ราชาดาวิดทรงรู้สึกเกรงกลัวพระเจ้าจับใจ  “แล้วเราจะนำหีบของพระเจ้ากลับไปด้วยได้อย่างไรนะ?”

“เอาอย่างนี้ เราเอาหีบพันธสัญญานี้ไปฝากไว้ที่บ้านของท่านโอเบดเอโดมก่อนแล้วกัน “

ดังนั้น บ้านของท่านโอเบด-เอโดมจึงเป็นที่เก็บรักษาหีบพันธสัญญาไว้จนกว่าราชาดาวิดจะทรงหาทางออกได้

ตลอดเวลานั้น พระเจ้าได้ทรงอวยพรครอบครัว และ งานทุกอย่างของโอเบด-เอโดม

 

กำลังหนุนทางทหาร ๑๒-๒

1 พงศาวดาร 12:23-40

เมื่อดาวิดได้ย้ายมาอยู่ที่เฮโบรนในเวลาต่อมา  ก็มีทหารที่ติดอาวุธเข้ามาสมทบ เพื่อจะร่วมกันมอบอาณาจักรของราชาซาอูลให้  พวกเขาต้องการทำตามที่พระเจ้าได้เคยตรัสไว้  ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ไม่ใช่แต่ผู้ใหญ่และประชาชนเท่านั้นที่จะเชิญให้ดาวิดเป็นกษัตริย์  แต่ทหารจากเผ่าต่าง ๆ  ก็มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย

มีจากเผ่ายูดาห์ชำนาญโล่และหอก  6,800  นาย

จากเผ่าสิเมโอน เป็นทหารเจนศึก    7,100   นาย

คนเลวี                                                 4,600   คน

พงศ์พันธุ์อาโรน                                   3,700   คน

ศาโดกและคนในตระกูล                           22  คน

คนเบนยามิน                                        3,000   คน  พวกนี้เคยจงรักภักดีต่อซาอูล,า่ก่อน

คนเอฟราอิมเป็นทหารกล้า              20,800  นาย

คนมนัสเสห์                                        18,000 นาย  พวกเขาตั้งใจมากที่จะให้ดาวิดเป็นกษัตริย์ นี่ครึ่งเผ่าเท่านั้น

คนเผ่าอิสสาคาร์ เป็นผู้ทำนาย              200 คน  รวมกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว

คนเศบูลุน  เป็นทหารฝึกมาอย่างดี   50,000 นาย  พร้อมอาวุธ

คนนัฟทาลี                                           38,000 นาย  เป็นจำนวนรวมเจ้าหน้าที่และทหารพร้อมรบ

คนเผ่าดาน                                           28,600  นาย  พร้อมรบ

คนเผ่าอาเชอร์                                     40,000  นาย  พร้อมทำสงคราม

ยังมีคนที่เพิ่มเติมอีก                        120,000   นาย  พวกนี้มาจากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน  เป็นทั้งคนมนัสเสห์อีกครึ่งหนึ่ง   คนรูเบน คนกาด  ติดอาวุธพร้อมสรรพ

มากมายเหลือเกิน

ทหารมาจากทั่วอิสราเอลมืดฟ้ามัวดิน  ต้องการมาเชิญให้ดาวิดเป็นกษัตริย์  พวกเขาไม่ได้มามือเปล่า แต่เอาอาหารบรรทุกลา ล่อ อูฐ และวัว มาเพียบ   พร้อมที่จะทำการเลี้ยง ซึ่งก็ได้เลี้ยงกันถึง สามวัน  ทุกคนต่างยินดีที่เขาจะได้กษัตริย์องค์ใหม่ที่กล้าหาญ  เป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเตรียมให้พวกเขา

 

 

ราวกับกองทัพของพระเจ้า ๑๒-๑

1 พงศาวดาร 12

ย้อนกลับไปตอนที่ดาวิดเพิ่งถูกราชาซาอูลไล่ล่าออกมา   และทำให้ต้องหนีไปอยู่เมืองศิกลาก ซึ่งอยู่ในเขตของคนฟิลิสเตีย  เวลานั้น ก็มีนักรบที่เริ่มรบเป็น และค่อย ๆ เก่งขึ้น ชำนาญการศึกมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ก็มีนักธนู และนักสลิง ซึ่งถนัดทั้งมือซ้าย มือขวา เข้ามาเป็นพวกอีกมากมาย  พวกเขาแยกตัวออกมาจากราชาซาอูล ทั้ง ๆ ที่เป็นคนเผ่าเดียวกัน เพราะพวกเขาเห็นว่า ดาวิดนี่แหละ วันหนึ่งจะได้เป็นกษัตริย์อย่างแน่นอน

ยังมีคนจากเผ่ากาด ที่เดินทางมารวมกับดาวิดในถิ่นกันดารด้วย   คนพวกนี้ หน้าตาน่ากลัว  ดุร้ายเหมือนสิงโต   แค่เห็นก็อยากวิ่งหนีไปให้ไกล  คนเผ่ากาดช่ำชองในการใช้โล่กับหอก  และปราดเปรียวเหมือนกับละมั่งภูเขา    พวกเขามาจากตะวันออกเฉียงเหนือ ข้ามแม่น้ำจอร์แดนมา ทั้ง ๆ ที่เป็นฤดูน้ำหลาก   ดาวิดได้คนดี ๆ เข้ามาอยู่ ด้วย แต่เขาก็ต้องดูแลคนเหล่านี้อย่างดีเช่นกัน

เหล่าทหารในกองทัพของดาวิด

ภาพวาดโดย เจมส์ ทิสสอท (1836-1902)

คนจากเผ่ามนัสเสห์ก็มาด้วย  พวกนี้เป้นนักรบที่กล้าหาญมาก  พร้อมที่จะช่วยดาวิดตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง

แน่นอน ต้องมีการตกลงอย่างลูกผู้ชายกันก่อน

“หากว่า พวกท่านมาอย่างสันติจริง ๆ  เพื่อช่วยเราแล้วล่ะก็  เรายินดีให้ท่านเข้าเป็นพวก  แต่… หากท่านมาเป็นเป็นใส้ศึกให้กับท่านซาอูลทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้ทำร้ายท่านหรือใคร ๆ  ก็ขอให้พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเราได้ทรงเห็นและลงโทษท่านเอง”

ดาวิดกล่าวกับพวกเขาอย่างชัดเจน  และผู้ที่จะตัดสินพวกเขาคือพระเจ้า!

อามาสัย  ได้รับพระวิญญาณของพระเจ้าในเวลานั้น  กล่าวกับดาวิดว่า

ท่านดาวิด   เรานะเป็นพวกของท่าน

บุตรเจสซี  เรานะเป็นฝ่ายท่าน

ความสำเร็จจะเป็นของท่าน

ความสำเร็จจะเป็นของทุกคน

ที่พวกเรามาช่วยท่าน  มาเป็นพวกของท่านเพราะว่า พระเจ้าจะทรงช่วยท่าน”

นี่เอง เป็นเหตุที่ทำให้ดาวิดเข้มแข็ง  เขามีกองทัพยิ่งใหญ่ เหมือนกับกองทัพของพระเจ้าเลยทีเดียว!

 

ยอดนักรบของพระราชา ๑๑-๓

1   พงศาวดาร 11:10-47

 

แม้ว่าราชาดาวิดเองจะเป็นนักรบที่เก่งกล้าสามารถ  แต่ก่อนหน้านี้ พระองค์เป็นเหมือนนักรบที่ไร้หลัก ต้องหนีราชาซาอูลไปตามที่ต่าง ๆ  และในช่วงต้น ๆ ที่หนีนั้นเอง  ก็มีคนมากมายขอเข้าเป็นพวก   ซึ่งคนเหล่านี้ เป็นทั้งผู้ที่ไม่ชอบกษัตริย์ซาอูล  และบางคนก็เป็นคนยากจน ไร้ที่อยู่  ไม่มีที่ทำกิน

แต่เมื่อมาอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน  ก็เริ่มเก่งขึ้นในการสู้รบ เพราะพวกเขาต้องต่อสู้กับทั้งโจรผู้ร้าย  ชนชาติต่าง ๆ ที่เป็นศัตรูของอิสราเอล  และยังทำหน้าที่เหมือนกับนายอำเภอให้กับชาวบ้านตามที่ต่าง ๆ  ซึ่งทุกคนก็พอใจเพราะเมื่อพวกของราชาดาวิด (ซึ่งขณะนั้นถูกมองว่าเป็นกบฎ)มาดูแล  ก็จะไม่มีโจรผู้ร้ายเข้ามาปล้นเลย

จากบุรุษเหล่านี้  มีอยู่สามคนที่ได้ชื่อว่า เป็นสามยอดนักรบ

ยาเชโบอัม  หรือที่เรียกว่าโยเชบบัสเชเบท ซึ่งเป็นคนที่ใช้หอกสังหารศัตรูทีเดียวหลายร้อยคน
เอเลอาซาร์ เขาคนนี้อยู่เคียงข้างราชาดาวิดมาตลอด  แม้กระทั่งครั้งที่ถูกชาวฟิลิสเตียรุมที่เมืองปัสดัมมิม  ทั้งสองก็รอดมาได้เพราะว่า พระเจ้าได้ประทานชัยชนะให้



อีกคนคือ ชัมมาห์ อ่านเรื่องของทั้งสามที่นี่

อาบีชัย เป็นหัวหน้าของทั้งสามคนนี้  เขาเป็นน้องชายของโยอาบแม่ทัพ  ได้ ใช้หอกสังหารข้าศึกทีละหลายร้อยคน ทำให้เขามีชื่อเสียงมาก

เบไนยาห์ เป็นอีกคนที่กล้าหาญมาก  เขาลงไปฆ่าสิงโตในหลุม  สามารถฆ่าคนที่สูงกว่าเขาตั้งมากได้   เขามีความสามารถพอๆ กับสามยอดนักรบ  แต่ก็ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสามคนที่กล่าวมา

ยังมีทหารที่อยู่ในกองทหารรักษาพระองค์ เป็นคนมีฝีมืออีก  30 คน  และราชาดาวิดยิ่งใหญ่ได้ก็เพราะพระเจ้าได้ประทานทหารคนสนิทที่ซื่อสัตย์  ถวายชีวิต และยังเป็นคนกล้าหาญ มีไหวพริบในการรบด้วย….

 

เมืองหลวงใหม่ ๑๑-๒

1 พงศาวดาร 11: 4-9
400 ปีมาแล้ว ที่คนอิสราเอลเข้ามาอยู่ในดินแดนคานาอัน และพวกเขาเข้าไปอยู่ในหลายเมืองเดิมที่มีคนอาศัยอยู่ก่อน ทั้งตั้งเมืองใหม่ก็มีด้วย แต่มีเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ใจกลางดินแดนคานาอันนี้ เมืองเยรูซาเล็ม ยังเป็นของคนเยบุส
เมืองเยรูซาเล็มตั้งอยู่ทางเหนือของเฮโบรน
จากเมืองเฮโบรน ราชาดาวิด ขึ้นไปเพื่อรุกและยึดเมืองเยบุส แต่คนเยบุสไม่ยอม และยังเยาะเย้ยว่า ดาวิดไม่เอาไหน ไม่มีทางที่จะยึดเมืองของเขาได้ แต่แล้ว ไม่นาน ราชาดาวิดก็ทรงยึดป้อมของเมืองได้

“เอาล่ะ” ราชาดาวิดกล่าวกับนายทหารว่า “คนที่โจมตีเมืองนี้ได้ก่อน ก็จะได้เป็นแม่ทัพ”
ทุกคนหันหน้ามามองกัน ตกลงกันตามนั้น
แต่โยอาบ ผู้เป็นหลานของราชาดาวิดเอง ได้ยกขึ้นไปก่อน ตีเมืองได้ ทำให้เขาได้เป็นแม่ทัพตามที่ราชาดาวิดทรงสัญญาไว้ ทหารทุกคนโล่งใจเพราะว่า พวกเขาเชื่อในความกล้าหาญของโยอาบมาโดยตลอด
ในช่วงแรกนี้เอง ราชาดาวิดประทับที่ป้อมปราการของเมือง ดังนั้นใคร ๆ ก็เลยเรียกเมืองนี้ว่า นครของดาวิด นอกเหนือไปจากชื่อเยรูซาเล็ม จากป้อมนี้เอง ราชาดาวิดขยายอาคารที่ต้องใช้ทำการต่าง ๆ ทรงสร้างเมืองรอบป้อมนี้
ส่วนโยอาบก็ไปซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของเมืองที่ยึดมาได้จากคนเยบุส
การสร้างเมืองครั้งนี้ นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญไม่น้อย เพราะเป็นการสร้างเมืองหลวงใหม่ ราชาดาวิดออกมาจากเมืองเฮโบรนและมาตั้งเมืองนี้เป็นเมืองหลวง พระองค์ทรงทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น และส่วนพระองค์เองก็เจริญขึ้นเช่นกัน
พระคัมภีร์บันทึกสิ่งที่สำคัญมากที่สุด ที่ราชาดาวิดเจริญรุ่งเรืองเป็นเพราะ พระเจ้าจอมโยธาสถิตกับพระองค์ !

ดาวิดเป็นกษัตริย์ ๑๑-๑

1 พงศาวดาร 11:1-3

ราชาดาวิดได้ปกครองในเฮโบรนมาถึง 7  ปี   แต่ไม่มีใครมาหา  มาเชิญให้เป็นกษัตริย์เลย  ราชาดาวิดเองก็ไม่ได้ทรงแต่งตั้งพระองค์เองขึ้น  จนกระทั่งเมื่อไม่มีซาอูล  ชาวอิสราเอลจึงได้พากันมาเข้าเฝ้าราชาดาวิด

“พวกเราทั้งหลายเป็นพี่น้องร่วมสายเลือดกับพระราชา

เราเห็นว่า ตั้งแต่สมัยราชาซาอูล  พระองค์ก็ทรงเป็นนักรบที่กล้าหาญมาโดยตลอด ”

พวกเขาเห็นว่า ไม่มีใครดีไปกว่าราชาดาวิดแล้ว

“และพระเจ้าได้เคยตรัสกับพระราชาว่า  … เจ้าจะเป็นผู้เลี้ยงแกะ  และเป็นผู้ปกครองอิสราเอล  ประชากรของเรา…”

พระเจ้าเคยตรัสอย่างนั้นจริง ๆ   แต่ประชาชนไม่ใส่ใจ จนกระทั่งวันนี้

ในวันนั้นเอง พวกเขากับพระราชาได้ทำสัญญาต่อกัน ต่อพระพักตร์พระเจ้า

ภาพเอื้อเฟื้อจาก Henry Davenport Charming Bible Stories (Philadelphia: J.H. Moore Company, 1893)

ผู้ใหญ่จากกลุ่มคนได้เจิมตั้งราชาดาวิดเป็นกษัตริย์

เรื่องนี้ ก็เกิดขึ้นจริงตามที่พระเจ้าเคยตรัสไว้กับซามูเอล

อ่านเรื่องนี้เพิ่มเติมที่นี่

 

 

ราชาองค์แรกแห่งอิสราเอล

1 พงศาวดาร 10

เรื่องราวของประเทศอิสราเอลนั้น เริ่มต้นที่พวกเขาออกมาจากอียิปต์และมาตั้งถิ่นฐานในแผ่นดินคานาอัน  พวกเขาแบ่งปันที่ดินกันอย่างเรียบร้อย    โดยที่ยังอาศัยปะปนไปกับชนชาติต่าง ๆ ที่อยู่กระจัดกระจายกันในแผ่นดินนั้น   ดังนั้นจึงมีสงครามเกิดขึ้นระหว่างชนชาติต่าง ๆ เช่นมีเดียน ฟิลิสเตีย  โมอับ  เอโดม  อัมโมน  อามาเลขอยู่เป็นประจำ  เหมือนเป็นเรื่องปกติที่จะเกิดขึ้น

ชนชาติเหล่านั้นต่างมีกษัตริย์ปกครอง  ทำให้คนอิสราเอลร้องขอที่จะมีกษัตริย์ด้วย แล้วพระเจ้าก็ประทานกษัตริย์ให้เขาอย่างที่ต้องการ

พระเจ้าทรงเลือกซาอูล  จากเผ่าเบนยามิน   ราชาซาอูล จึงเป็นกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล

ประชาชนชอบใจมาก เพราะราชาซาอูลนี้ เป็นคนร่างสูงและหน้าตาดีมาก ๆ  เหมือนเป็นพระเอกในหัวใจของประชาชนแต่คนที่เป็นกษัตริย์นั้น มีหน้าที่จะต้องสัตย์ซื่อต่อพระเจ้า  รักษาพระบัญชาต่าง ๆ ของพระองค์  แสวงหาการทรงนำของพระเจ้า

แรก ๆ  ราชาซาอูลก็ยังถ่อมตนและเชื่อฟังพระเจ้าเสมอ

แต่แล้วต่อมา ก็เปลี่ยนไป  พระราชาแสนดี กลายเป็นพระราชาที่หมกมุ่นงุ่นง่าน ขี้อิจฉา   โกรธเกรี้ยวอยู่เสมอ  อาฆาตมาดร้าย…. ถึงขนาดไปปรึกษาแม่มดเสียด้วย

น่าเสียใจจริง ๆ  เพราะมันนำไปสู่ความตายอันอัปยศของพระราชา

ท่านเอสราบันทึกไว้ว่า
“ราชาซาอูลได้สิ้นพระชนม์เพราะความไม่ซื่อสัตย์ต่อพระเจ้า  ไม่ทรงรักษาพระบัญชาของพระเจ้า  และไปปรึกษาคนทรง ไม่ทรงแสวงหาการทรงนำของพระเจ้า พระเจ้าจึงทรงสังหารพระองค์เสีย และยกอาณาจักรให้กับดาวิดบุตรเจสซี”

จัดบ้านเมืองและพระวิหาร ๙

1 พงศาวดาร 9

คนอิสราเอลเป็นเชลยที่บาบิโลนประมาณ 70 ปี  บางคนก็เกิดที่นั่น คนที่กลับมาบางคนก็ชรามากแล้ว  ใครที่อายุเกิน 70 ปี ก็จะได้รู้รสชาติของชีวิตหลาย ๆ แบบ จากคนที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้าและต้องถูกไปเป็นเชลย  และกลับมาสร้างบ้านเมืองใหม่  โดยเริ่มต้นที่เมืองเยรูซาเล็ม

พวกแรกที่ได้กลับมาแล้วได้กรรมสิทธิ์ครองที่ดิน คือปุโรหิต เลวี และคนที่ทำงานในพระวิหาร  เพราะไม่ยากที่จะจัดที่ทางให้  มันลงตัวอยู่แล้วตามกฎซึ่งวางไว้มาแต่โบราณ คนอิสราเอลนั้นแบ่งเป็นปุโรหิต  เลวี   คนรับใช้ทั่วไปในพระวิหาร  และบุคคลธรรมดาที่เป็นประชาชนทั่วไป

และยังมีคนเผ่าอื่น ๆ เข้ามาผสมปนเปอาศัยในเยรูซาเล็มด้วย

คนที่เข้ามาทำงานในพระวิหารนั้น 1760 คน ไม่รวมผู้เฝ้าประตูทั้งสี่ด้าน 212 คน  นายประตูรั้วเหล่านี้คือคนเผ่าเลวี ต้องดูแลห้องและพระคลังแห่งพระวิหาร  พวกเขามีหน้าที่เปิดปิดประตูทุกวัน

เราอาจสงสัยว่า ทำไมจึงต้องมีคนมากมายนัก   เป็นเพราะพวกเขายังมีหน้าที่ดูแลเครื่องใช้ต่าง ๆ  การนำออกไปใช้ การนำกลับคืนมา มีการบันทึกอย่างเรียบร้อย  มีคนที่ต้องดูแลเรื่องยอดแป้ง เหล้าองุ่น น้ำมัน  เครื่องหอม เครื่องเทศ  ของปิ้งต่าง ๆ  ขนมตั้งถวาย และสารพัดที่ต้องทำให้ครบถ้วนกระบวนการถวายเครื่องบูชา

ในพระวิหารยังมีคนที่เป็นนักร้อง อยู่เวรทั้งกลางวันและกลางคืน คนเหล่านี้มาจากตระกูลเลวีเท่านั้น

ยาเบสอธิษฐาน ๔

1 พงศาวดาร 4:5-9

มีชายคนหนึ่ง ในตระกูลยูดาห์   เป็นคนที่เข้มแข็งมาก ใคร ๆ ก็นับถือเขา   แต่… สำหรับแม่ของเขาแล้ว  ตั้งชื่อเขาว่า ยาเบส

“ทำไมล่ะ?  ทำไมเธอตั้งชื่อลูกว่ายาเบส  ไม่ค่อยดีเลยนะ”

“ก็ตอนที่ฉันคลอดลูกคนนี้   มันเจ็บมากเลย “

“แต่ชื่อนี้แปลว่า ความเจ็บปวด ความเสียใจ เธอจะเปลี่ยนชื่อลูกไหม?”

“ไม่หรอก  ยังไงก็ชื่อนี้…”

ดังนั้น ทุกครั้งที่แม่เรียกชื่อของยาเบส  ทำให้ยาเบสระลึกเสมอว่า เขาทำให้แม่เจ็บปวดมากเพียงไร  มันเป็นแผลในใจของเขา

แต่เขาไม่ปล่อยให้แผลนั้นทำลายตัวเขาเอง

เขาหันมาหาพระเจ้า และทูลอธิษฐานเสมอว่า

“ข้าแต่พระเจ้า  ขอพระองค์ทรงอวยพระพรแก่ข้าพเจ้า….
ขอพระองค์ทรงขยายเขตแดนที่ข้าพเจ้าอาศัย ….
ขอพระเจ้าโปรดทรงอยู่ด้วยกับข้าพเจ้า
พระเจ้าข้า  ขอทางช่วยข้าพเจ้าให้พ้นจากสิ่งชั่วร้าย
เพื่อไม่ให้ข้าพเจ้าเจ็บปวดทั้งกายและใจ …. “

ยาเบสอธิษฐานอย่างจริงใจ  และเขาเชื่อว่า พระเจ้าจะประทานให้เขา

เขาอธิษฐานเพื่อไม่ให้เขาเจ็บปวดทั้งกายและใจ

และพระเจ้าก็ประทานให้ตามที่เขาทูลขอ…

พระเจ้าไม่ได้ทรงตอบคำอธิษฐานของยาเบสคนเดียว

แต่ทุกคนที่วางใจในพระองค์ และเชื่อ นับถือ ยอมรับพระนามพระเยซู

พระเจ้าจะทรงตอบคำอธิษฐานของเขาเช่นกัน

พระเจ้าทรงอยู่ด้วย ๔-๘

1 พงศาวดาร 4-8

ท่านเอสราเอลก็สนใจที่จะสืบเสาะ และเล่าเรื่องราวของเผ่าที่อยู่ในยูดาห์ ที่สำคัญยิ่งคือ   พระเจ้าไม่ได้ทรงละทิ้งเขาเลย  พระเจ้าทรงอยู่กับพวกเขาทุก ๆ ชั่วอายุคน  มีรายชื่อของบรรพบุรุษแห่งเผ่า บอกที่มา ที่ไปของพวกเขาอย่างชัดเจน    การเล่าถึงบรรพบุรุษนี้ จึงไม่ได้บอกเล่าเรื่องราวของทุกเผ่าจนครบ

คนเหล่านี้ ถูกกวาดไปยังบาบิโลน  และเมื่อเขากลับมา ท่านเอสราก็ได้บันทึกลำดับวงศ์ตระกูลให้ซึ่งเป็นรายละเอียด ลำดับดังกล่าว ทำให้เราได้รู้ว่า พระเจ้าทรงมีแผนการให้กับชนชาตินี้  ทรงรู้จักทุกคน    ทรงลงโทษ  ตักเตือน ว่ากล่าวเมื่อเขาทำผิด   และพระองค์ทรงอวยพระพรมากมายเมื่อเขาทำสิ่งที่ถูกต้องต่อพระองค์

ราชวงศ์ดาวิด (๒ และ ๓)

1 พงศาวดาร 2-3

ยามที่คนอิสราเอลกำลังจะสร้างประเทศใหม่  เอสราจำเป็นที่จะต้องให้พวกเขาชัดเจนกับที่มาของตัวเอง  ดังนั้น  จากเผ่ายูดาห์ เราได้เห็นลูกหลานที่เกิดต่อ ๆ กันมาจนถึงกษัตริย์ดาวิด  ซึ่งดาวิดองค์นี้แหละที่เป็นคนสำคัญ

ยาโคบ หรืออิสราเอล มีลูกชาย 12 คน

รูเบน สิเมโอน เลวี     ยูดาห์ อิสสาคาร์ เศบูลุน       ดาน โยเซฟ เบนยามิน     นัฟทาลี กาด และอาเชอร์

จากลูกชายทั้ง 12 คน ท่านเอสราไปเน้นที่ยูดาห์คนเดียวเท่านั้น  มีลูกหลานหลายทาง แต่ที่สำคัญก็คือสายที่มีบันทึกชื่อของลูกหลานมาจนถึงชายคนที่ชื่อเจสซีเจสซีท่านนี้ มีลูกชายอีก 7 คนกับลูกสาว  2 คน โดยมีดาวิดเป็นลูกชายคนสุดท้อง

เมื่อดาวิดทรงครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2   แห่งอิสราเอลนั้น พระองค์มีมเหสีหลายองค์  ทำให้มีลูกชายมากมายตามไปด้วย   คนที่เราอ่านเรื่องราวได้ก็มี อัมโนน   อับซาโลม  อาโดนิยาห์ และซาโลมอน ซึ่งได้ทรงกลายเป็นกษัตริย์ที่มีสติปัญญามากที่สุดในโลก

ส่วนหนึ่งของรูปปั้นกษัตริย์ในวงศ์วานของราชาดาวิด

ประเทศอิสราเอลเป็นแผ่นดินเดียวกันในรัชสมัยของ  ราชาซาอูล  ราชาดาวิด และราชาซาโลมอน

หลังจากนั้น ประเทศแบ่งออกเป็นสองแผ่นดิน อิสราเอลทางเหนือ และยูดาห์ทางใต้

สิ่งที่ท่านเอสราสนใจมากคือ ราชวงศ์ของยูดาห์

ท่านได้เล่าถึงผู้ที่ปกครองในยูดาห์มาจนถึง เศเดคียาห์ กษัตริย์องค์สุดท้ายที่ถูกบาบิโลนจับตัวไป

จากนั้นมา วงศ์ของดาวิดยังคงมีต่อไป  แต่พวกเขาไม่ได้เป็นกษัตริย์อีกต่อไปแล้ว  กลายเป็นคนธรรมดาต่อมาอีกหลายชั่วอายุคน …….

และที่พระเจ้าทรงใช้เอสราบันทึกสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อให้คนทั้งหลายได้รับรู้หลักฐานความเป็นจริงของวงศ์วานดาวิด….

เริ่มต้นประวัติศาสตร์ ๑

1 พงศาวดาร 1

พงศาวดาร บทแรก เล่าถึงเทือกเถาเหล่ากอของแต่ละตระกูล แต่ละเผ่าจากอิสราเอลทั้ง 12 เผ่า    ความเป็นมาสั้น ๆ   ให้ทราบว่า ใครเป็นใครที่สำคัญคือ กล่าวถึงชาย หญิงคนแรกที่พระเจ้าสร้าง อาดัมและเอวา

จนมาถึงโนอาห์และลูกชายทั้งสามคน เชม  ฮาม  ยาเฟท ซึ่งเป็นต้นตระกูลของชนที่แยกย้ายกันออกไปอยู่ในอัฟริกา  ยุโรปและเอเชีย

จากกูเกิ้ลแมบ

ลูก ๆ ของยาเฟทไปอยู่ทางยุโรป และเอเชียเหนือ

ลูก ๆ ของฮามไปทางเอเชียตะวันออก  และอัฟริกา

ลูก ๆ ของเชม  เป็นต้นตระกูลของคนชาวเปอร์เซีย  อัสซีเรีย  ผู้คนในเอเชียน้อย อาราเมียน ซีเรียน และ   อับราฮัมเป็นเชื้อสายของเชม  เขาเป็นต้นตอของชาวฮิบรู (หรือ อิสราเอลนั่นเอง)

เริ่มสนุกแล้ว

อับราฮัมท่านนี้ เรื่องราวมีอยู่ในหนังสือปฐมกาล   อับราฮัมมีลูกชายสองคนคือ อิสอัค และอิชมาเอล

อิชมาเอล ลูกชายคนแรกที่เกิดจากทาสหญิงฮาการ์  พระเจ้าทรงสัญญาให้เขาเป็นต้นตระกูลของชนชาติใหญ่ เขาได้รับพรเนื่องจากเป็นบุตรของอับราฮัม  และเชื้อสายของเขาสืบเนื่องมาจนปัจจุบันเป็นชาวอาหรับ

อิสอัคเป็นลูกชายที่แห่งพันธสัญญา  ลูกหลานของเขาจะมีมากมายดุจดาวบนท้องฟ้า   และจากสายของเขาพระบุตรของพระเจ้าจะมาบังเกิด

อิสอัค มีลูกชายสองคนคือ เอซาวและยาโคบ(ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นอิสราเอล)  แม้ว่าลูกหลานของเอซาวจะไม่ได้อยู่ในพันธสัญญา แต่พวกเขาก็สำคัญในแผนการของพระเจ้า

ลูกหลานของยาโคบหรืออิสราเอล กลายเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพันธสัญญาของพระเจ้าที่มีต่ออับราฮัม

เอซาวเองได้รับพระพรจากพระเจ้า เพราะลูกหลานของเขาได้สร้างเมือง กลายเป็นกษัตริย์แห่งเอโดม

มีการบันทึกชื่อคนมากมายหลายคนที่พวกเราอาจจะงุนงง   แต่คนเหล่านี้ เป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริงในโลกโบราณ สืบเชื้อสายต่อ ๆ กันมา    พระเจ้าทรงให้เราเห็นว่า พระองค์ทรงสร้างเรามา  และทรงมีแผนการที่จะทรงช่วยให้เรารอดพ้นจากโทษบาปที่อาดัมได้ทำไว้

แนะนำพงศาวดาร

หนังสือเล่มต่อไปต่อจาก 2 พงศ์กษัตริย์นี้  เป็นหนังสือชื่อ พงศาวดาร มีสองเล่ม เดิมสองเล่มนี้เป็นเล่มเดียวกัน  แต่ได้มาแยกออกเป็นสองเล่มในเวลาต่อมา   หนังสือพงศาวดารได้ย้อนอดีตกลับไปตั้งแต่เริ่มต้น

เชื่อว่าคนที่เขียนหนังสือนี้ ชื่อท่านเอสราซึ่งเป็นครูที่สอนพระคำของพระเจ้าให้แก่คนอิสราเอลในขณะที่พวกเขาอยู่ในบาบิโลน  และเมื่อนำพวกเขากลับมาจากบาบิโลนเพื่อสร้างประเทศใหม่   ท่านเอสราก็เขียนเล่าประวัติศาสตร์ย้อนหลัง เริ่มเขียนตอนที่คนอิสราเอลกลับมาจากบาบิโลน
อาจจะมีเรื่องราวที่ซ้ำกับหนังสือซามูเอล และพงศ์กษัตริย์    แต่ก็เป็นมุมมองที่แตกต่างออกไปจากคนที่เขียนหนังสือสองเล่มดังกล่าว   แต่หนังสือนี้ เป็นการเขียนขึ้นจากหลักฐานต่าง ๆ การค้นคว้าจากร่องรอยเดิมที่มีบันทึกเอาไว้

บุคคลสำคัญที่ท่านเอสรากล่าวถึงนั้นก็คือ  ราชาดาวิดนั่นเอง  … ท่านก็จะเล่าเรื่องยาวไปถึงต้นตระกูลตั้งแต่สมัยพระเจ้าสร้างโลกเลย  เพื่อให้เราเห็นว่า ราชาดาวิดนั้นทรงมีความเป็นมาอย่างไรทางสายเลือด  
อาจสงสัยว่า ทำไมต้องมาย้อนประวัติศาสตร์ให้อ่านอีกนะ  …

ก็อย่างที่บอก  คนละมุมมอง  หนังสือเล่มที่ผ่านมา มองในแง่การเมืองและการทหารเป็นส่วนใหญ่  แต่หนังสือพงศาวดารจะมองลึกลงไปในฝ่ายวิญญาณของกษัตริย์และประชาชน

ดูภาพข้างล่างนี้หน่อย ทำให้เราเห็นว่า แผ่นดินเหนือและใต้ ต่างถูกกวาดไปคนละทิศละทาง

เรื่องราวใน 1 และ 2 พงศ์กษัตริย์  เล่าถึงเหตุการณ์ที่มีกษัตริย์ปกครองแผ่นดินที่พระเจ้าทรงสัญญาให้คนในแผ่นดินอิสราเอลทางเหนือ  และยูดาห์ทางใต้    จบที่พวกเขาล้มเหลว ถูกกวาดไปยังอัสซีเรีย และบาบิโลนตามลำดับ

1 และ 2 พงศาวดาร เล่าเรื่องเดียวกัน แต่ผู้เขียนได้เน้นการสืบทอดเชื้อสายของคนเผ่าต่าง ๆ   และแผ่นดินยูดาห์ทางใต้   เพราะว่า สิ่งนี้จะทำให้คนอิสราเอล(ในที่นี้ เราจะหมายถึงคนยูดาห์ด้วย )  ได้เห็นว่า สัญญาใด ๆ ที่พระเจ้าทรงทำไว้กับคนอิสราเอลนั้น จะสำเร็จทั้งสิ้น   และผู้ที่สืบทอดเชื้อสายของราชาดาวิด  จะเป็นพระผู้ช่วยให้รอดของโลก  ท่านเอสราเขียนหนังสือนึ้ขึ้นเพื่อบันดาลใจให้คนอิสราเอลที่กลับมาจากบาบิโลน ได้ระลึกถึงพระสัญญาของพระเจ้า และจะเดินตามทางของพระองค์ ไม่ทำพลาดผิดไปเหมือนอย่างที่ผ่านมา